กวีกำลังจะตาย ซีดจาง บนเสียงธารชีวิต

Mardi Soir #3: Quick Journal, Poetry (Lee Chang Dong, 2010)

Tuesday Evening
2 min readMay 25, 2023
มีจาอยากเขียนกวี
มีจาตามหาเสียงภายใน
มีจาตามหาชีวิต ทั้งๆที่มันอยู่ตรงหน้าอย่างชัดเจน
เธอพบเสียงของเธอ ในวันที่ชีวิตกำลังจะเดินจากเธอไป

Poetry (lee Chang Dong, 2010) : Psychodrama

เรื่องราวของคุณยายที่เลี้ยงหลานชายแทนลูกสาว เธอกำลังใช้ชีวิตบันปลายอย่างเงียบเชียบ แต่โรคร้ายอย่างอัลไซเมอร์ กับเหตุการณ์กระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตายของนักเรียนหญิงที่ถูกรุมข่นขื่นโดยกลุ่มนักเรียนที่มีหลานตนไปเอี่ยวด้วย ส่งเสียงดังกระเพื่อม แสดงตน สะท้อนออก เน้นย้ำความอัปลักษณ์ของชีวิตภายใต้ชุดสีสันสดใสที่เธอชอบใส่ ในขณะเดียวกับที่เธอกำลังตามหาเสียงของตัวเองในฐานะนักเขียนกวี นำไปสู่การค้นพบตัวตน ทั้งตัวตนวัยเด็กภายใน และตัวตนในการเป็นผู้เจ็บปวดร่วม ไม่ว่าจะในฐานะผู้หญิง หรือในฐานะมนุษย์ผู้ถูกกระทำจากแรงกดทับของรากเน่าแห่งสังคมปิตาธิปไตย โดยมีบทกวีเป็นสื่อกลาง

ถ่ายทอดผ่านภาพความงามของต้นไม้ สายลม แสงแดด ความโรแมนติกของทิวทัศน์ชนบท หากแต่ดึงความเศร้าสลดอันเปียกปอน กับปลุกความรู้สึกด้านชาต่อความรุนแรงทางสังคมที่ฝังลึกในจิตใจ ให้ฟื้นขึ้นมาแผ่วเบาเพียงเพื่อไว้อาลัยให้มันอีกครั้ง ในเวลาเดียวกัน บทกวีชีวิตเรื่องนี้สะท้อนสัญญาณชีพอันบางเบาของวัฒนธรรมการเขียน-อ่านกวีด้วยเช่นกัน

*Spoilers Alert*

The Urge to Breathe

เราพบว่าภาพยนต์ดราม่าชีวิตเกี่ยวกับกวีเรื่องนี้เป็นบทกวีฉบับยาวด้วยตัวของมันเอง เส้นทางความพยายามที่จะเริ่มเขียนกวีในวัยชราของมีจา ที่ดำเนินสลับไปพร้อมกับเหตุการณ์ความรุนแรงในชีวิตประจำวันที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา. ให้ความรู้สึกว่าถึงแม้หน้ากระดาษที่ว่างเปล่าของมีจาจะไร้ตัวหนังสือ พรรณนาออกมาไม่ได้ ถึงแม้มันจะถูกทำให้เงียบเชียบ กดทับให้ไร้สิ้นเสียงเท่าไหร่ แต่ความน่าเกลียดกับความงดงามในชีวิตของผู้คนที่เป็นเหยื่อปรากฏอยู่ตรงนั้นอย่างแจ่มจัดชัดเจน. เด่นชัดพอๆกับสีสันของเสื้อผ้าอันสดใสที่มีจาบรรจงเปลี่ยนใส่ในทุกวัน แม้ชีวิตกำลังจะจากเธอไป (โรคความจำเสื่อมคลืบคลานเข้ามา และเธอกำลังเริ่มลืมคำนาม) แม้เสียงของเธอกำลังจะถูกทำให้ซีดจางยิ่งกว่าสีผมหงอกของวัยชรา ความต้องการที่จะเขียนกวีในช่วงเวลานี้ แรงฮึดที่จะเปล่งเสียง เป็นสัญญาณชีพที่งดงาม แม้แผ่วเบา

เปรียบกับวัฒนธรรมการเขียนและอ่านกวี ที่แม้กำลังจะเลือนหาย จางไปตามยุคสมัย แต่ Poetry ก็เน้นย้ำให้เห็นว่า การเขียนและการอ่านกวี การรวมกลุ่มของผู้คนที่สนใจในบทกวี ในพื้นที่เล็กๆเงียบๆของกันและกันเอง ก็ยังคงเป็นสื่อกลางที่ชุบชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนบางกลุ่ม

The Hope to Live

มีจาพยายามที่จะตามหาเสียงเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอในสิ่งอื่น มีจามองไปรอบกาย หันซ้ายหันขวา ในต้นไม้ สายลม แสงแดด หรือในผลแอปพลิคอต แสดงให้เห็นถึงคำจำกัดความโดยทั่วไปของความเป็นบทกวี — ความงาม, ดอกไม้, และคำพูดประหลาดๆ. ทั้งๆที่ชีวิตของเธออยู่ตรงนั้น สลับซับซ้อนเต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์จนไม่สามารถเขียนออกมาเป็นเพียงคำสั้นๆ แง่มุมนี้ทำให้เราสะท้อนคิดถึงกระบวนการสรรหาถ้อยคำแสดงความรู้สึกเพื่อเขียนชิ้นงานตัวเองเหมือนกัน หลายๆครั้งที่เราไม่ได้รู้สึกอย่างลึกซึ้ง แต่พยายามจะปั้นแต่งคำจากสิ่งอื่นที่เรามองว่ามันสวยงาม อย่างที่มีจาทำ เบือนหน้าหนีจากความเจ็บปวดในชีวิตจริงอันบิดเบี้ยวที่มีอยู่แล้วตรงหน้า จากหลายๆฉากที่ถ่ายให้เห็นใบหน้ามีจาด้านข้างที่มองออกไปนอกหน้าต่างรถเมล์ หรือฉากที่เธอมองเข้าไปในห้องเรียน แม้หันหน้าตรง แต่ถ่ายผ่านกระจกใสที่เธอเอาใบหน้าชิดจนลมหายใจเป็นไอกระทบกระจก ให้ความรู้สึกอึดอัดท่วมท้น

ความจริงตรงหน้าชัดเจนเกินไปเสียจนด้านชา เจ็บปวดจนไม่กล้าหันไปเผชิญหน้ากับมันตรงๆ แต่ไม่ใช่ความจริงในชีวิตหรือที่ทำให้บทกวีงดงาม? ฉากที่เราชอบฉากหนึ่งคือฉากที่มีจาเริ่มเข้าใกล้เสียงของตัวเองมากขึ้น เธอเขียนเกี่ยวกับผลแอปพลิคอต (ผลแอปพลิคอตตกลงมาที่พื้นเอง มันแตกออกและเปล่งเสียงเรียกหาชีวิตใหม่) ให้ความรู้สึกถึงความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ ในรูปแบบอื่น และในขณะเดียวกันเราก็เห็นใจไปกับการดิ้นรนที่จะหาชีวิตในแบบที่ไม่ได้เป็นอยู่ หรืออีกฉากหนึ่งที่มีจากำลังนั่งอยู่ริมแม่น้ำที่พบศพเด็กนักเรียนหญิง เธอเปิดสมุดโน๊ต ยังไม่ทันได้เขียนอะไรลงไปราวกับสรรหาคำมาเขียนไม่ได้ แต่แล้วฝนก็ตกลงเต็มหน้ากระดาษ กับถ่ายให้เห็นมีจาที่นั่งนิ่งอยู่ริมแม่น้ำเนื้อตัวเปียกปอน ฝนห่าใหญ่ทำงานแทนความรู้สึกอันท่วมท้นของเธอ ณ ห้วงขณะนั้น แทนถ้อยคำที่ไม่มีอยู่เลยในหน้ากระดาษเล็กๆ มีจากำลังจุ่มแช่และเผชิญหน้าต่อชะตากรรมในชีวิตตัวเองอย่าตรงไปตรงมาแล้วในที่สุด หลังจากหลายๆฉากที่เธอพยายามสรรหาถ้อยคำมาเล่าชีวิตของเธอ หรือใช้ชีวิตไปแบบไม่แสดงอารมณ์นักหรือแม้แสดงออก ก็มักถูกเพิกเฉยละเลยต่อเสียงอยู่เสมอ

The flow of Expression

มีจาไม่อาจต้านทานกระแสน้ำของสังคมแห่งการกดขี่ที่ยิ่งใหญ่กว่า Poetry ตัดสินใจถ่ายทอดว่ามีจาไม่ได้คัดค้าน (แม้จะแสดงให้เห็นว่าเธอถูกริดรอดสิทธิ์และเอาเปรียบในชีวิต แบกรับเอาเองอยู่สารพัด) เธอไม่ได้คัดค้าน เธอไหลไป หรือเธออาจต้านทานแล้วแต่แรงน้อยเกินไป หรืออาจต้านทานไปแล้วด้วยวิธีการของเธอเอง เสื้อผ้าสีสวยๆที่ใส่แม้ขัดกับสถานะทางการเงินจนคนเห็นก็สงสัยหรือไม่ก็ชมว่าสวยจัง ธารน้ำแห่งการแสดงออกของเธอเองแม้ไม่ได้ใช้แรงมากพอหรือมากมายที่จะปะทะกับแรงกดของน้ำที่ใหญ่กว่าอย่างแม่น้ำ แต่มันก็ยังไหลไปจนถึงวาระสุดท้าย วัฒนธรรมอ่านเขียนกวีก็เหมือนกัน มันกำลังถูกถาโถมด้วยวัฒธรรมการเสพเนื้อหาในรูปแบบอื่นในปัจจุบัน มันยังคงหลั่งไหล ในที่ทางของมันอยู่ อย่างเงียบงัน

Poetry as Collective Voice

สุดท้ายธารน้ำแห่งเสียงก็ไหลบรรจบ ภาพยนต์เริ่มด้วยฉากแม่น้ำ และจบลงที่แม่น้ำ มีจาพบเสียงของเธอในที่สุด แต่ตัวเธอได้หายไปจากการเฝ้าดูของผู้ชมแล้ว. เสียงของมีจาอ่านบทกวีแรกและ(อาจจะ)สุดท้ายของตัวเอง เสียงของเธอไหลไปรวมกับเสียงของ Agnes เด็กสาวที่ถูกพบร่างในแม่น้ำในฉากแรก ชีวิตของมีจาไหลไปรวมกันกับชีวิตของเด็กหญิงผู้เป็นเหยื่อ หรืออาจจะรวมถึงตัวตนวัยเด็กภายในของเธอเองด้วย เรารับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดร่วม เมื่อร่างกายของตัวละครหายไป หลอมรวมกันในการเคลื่อนไปของสายน้ำ หลอมรวมกันในกรอบของชีวิต และในที่สุดเราก็พบ Anges เราไม่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของเธอ เช่นกันกับที่เราไม่รู้เรื่องราวประวัติศาตร์ก่อนวัยชราของมีจา แต่ Poetry ได้ทำให้เราได้เป็นสักขีพยานความเจ็บปวดจากความรุนแรงทางสังคมปิตาธิปไตย ผ่านบทกวี และในอีกฝากฝั่งของชีวิต ในอีกโลกหนึ่งที่มีจาไม่ได้ถูกทำให้จืดบอดเงียบหาย อีกโลกที่งดงามกว่านี้ มีจาอาจไม่จำเป็นต้องตามหาเสียงของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่ตรงหน้าแล้วอย่างแจ่มจัดชัดเจน

กวีกำลังจะตาย เราจึงต้องคุกเขาอ้อนวอนร้องขอที่จะปลดพันธนาการเสียง มันไม่ได้อยู่ที่ไหนข้างนอก มันอยู่ข้างในร่างกายเรา

Poetry (Lee Chang Dong, 2010)

--

--

Tuesday Evening

Poet Wannabe, Post-consumerist Practitioner, Sense Experimenter, & the Devil’s Advocate. Trying to merge all into my pieces here.